Header Ads

สุขา : ตอนที่ 1


สุขา
ทุกคน อาจจะ ทราบว่า คำว่า "สุขา" มาจาก "สุข" หมายถึง ความสุขสบายที่ได้ถ่ายทุกข์ของตนแล้ว และมีอีกความหมาย คือ ห้องส้วม

สุขา หรือ ห้องส้วม
ความหมายของ "ส้วม" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต มีความหมายถึง ที่ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ (ภาษาชาวบ้านเรียกว่า "ที่อึและที่ฉี่") ซึ่งคำว่า "ส้วม" เป็นคำเก่าแก่ที่ใช้กันมาตั้งแต่ก่อนสมัยรัตนโกสินทร์


จากหนังสือ "ส้วมและเครื่องสุขภัณฑ์ในประเทศไทย" ของมนฤทัย ไชยวิเศษ ได้แจกแจงความหมายของคำว่า "ส้วม" ไว้ดังนี้

“คำว่าส้วมในภาษาล้านนามี ความหมายว่า "หิ้งบูชา หรือที่นอนของพระ" โดยเฉพาะของเจ้าอาวาส ส่วนทางอีสานหรือลาว คำว่า "ส้วม" จะหมายถึง ห้องนอนของลูกสาวหรือเจ้าบ่าว-เจ้าสาวด้วย ส่วนคำอื่นที่มีความหมายว่าส้วม เช่น ห้องสุขา เวจ (เว็จ) ถาน (ส้วมของพระ) สีสำราญ และอุโมงค์ (สองคำหลังเป็นคำเรียกสถานที่ขับถ่ายของผู้หญิงที่อยู่ในวังหรือผู้หญิงชาว วังที่มิใช่เจ้านาย) แต่สำหรับเจ้านายชั้นสูงหรือกษัตริย์จะใช้คำว่า "ห้องบังคน" เป็นคำที่มาจากภาษาเขมร ส่วนในปัจจุบัน คำว่า "ห้องส้วม" หรือ "ห้องสุขา" มักจะหมายถึง ห้องหับเล็ก ๆ ที่มิดชิด มีส่วนประกอบคือโถนั่งแบบชักโครก หรือส้วมที่ต้องนั่งยอง ๆ”

คำว่า "สุขา" อาจจะมาจากชื่อของ "กรมศุขาภิบาล" ที่ก่อตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เรียกสั้น ๆ ว่า "กรมศุขา" (มีความหมายถึง การบำรุงรักษาความสุข) และมีการเปลี่ยนคำเขียนเป็น สุขาภิบาล ดังนั้นห้องสุขาภิบาลหรือที่เรียกอย่างย่อว่า ห้องสุขา มีความหมายว่า "ห้องที่สร้างโดยสุขาภิบาลสำหรับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ" โดยมีหน่วยงานกรมศุขาภิบาลทำหน้าที่ในการรักษาความสะอาดของพระนครและป้องกัน โรคระบาดในสมัยนั้น

หลักฐานในสมัยสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา



      วิวัฒนาการของส้วมในไทยมาเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกับบุคคลชั้นสูง โดยเฉพาะกษัตริย์หรือเจ้านายที่มีอภิสิทธิ์ในการสร้างที่ขับถ่ายในที่พัก อาศัย ราษฎรทั่วไปไม่อาจทำได้ โดยอาจกั้นห้องเป็นสัดส่วน มีศัพท์เฉพาะเรียกว่า ที่ลงบังคน หรือ ห้องบังคน เพราะเรียกอุจจาระของเจ้านายว่า บังคน เช่นกัน เจ้านายจะขับถ่ายลงในภาชนะรองรับ จะมีคนคอยปรนนิบัติรับใช้นำไปทิ้ง ส่วนสถานที่ของส้วมหรือสถานที่ลงพระบังคน น่าที่จะอยู่ห่างจากพระราชมนเทียรพอสมควร เพื่อป้องกันกลิ่นรบกวน
ลาลูแบร์ ราชทูตฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เขียนเล่าไว้เมื่อปี พ.ศ. 2231 ว่า
"ในประเทศสยามถือกันว่าเป็นหน้าที่ที่มีเกียรติมาก ถ้าบุคคลใดได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เทโถพระบังคล ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งจะต้องนำไปเทลง ณ สถานที่อันกำหนดไว้เพื่อการนี้ และมียามเฝ้าระวังรักษาอย่างกวดขัน มิให้ผู้ใดอื่นกล้ำกรายเข้าไปได้ อาจเป็นเพราะความเชื่อถือโชคลางทางไสยศาสตร์ ซึ่งชาวสยามเชื่อว่าอาจมีผู้ทำกฤตยาคุณได้จากสิ่งปฏิกูลที่ถ่ายออกมาจากร่าง กายนั้น
สำหรับพระสงฆ์แล้วในพระธรรมวินัยกำหนดไว้ว่าจะต้องมีสถานที่ขับถ่ายโดยเฉพาะเช่นกัน เรียกว่า เวจ, เวจกุฎี (อ่านว่า เว็ดจะกุดี) หรือ วัจกุฎี (อ่านว่า วัดจะกุดี) โดยมีลักษณะเป็นหลุมถ่ายก่ออิฐหรือหินหรือไม้กรุเพื่อไม่ให้ขอบหลุมพัง มีเขียงแผ่นหินหรือแผ่นไม้รอง ปิดทับหลุม เจาะรูตรงกลางสำหรับถ่ายอุจจาระ หรืออาจมีฝาทำจากไม้ อิฐ หรือหิน ในบางแห่งมีล้อมเป็นผนังให้มิดชิด นอกจากนี้ยังมีคำว่าถาน ใช้เรียกส้วมของภิกษุสามเณร โดยถานสมัยโบราณเป็นโรงเรือนแยกออกไปต่างหาก ส่วนใหญ่จะอยู่ท้ายวัดจะได้ไม่ส่งกลิ่นเหม็นมารบกวน ลักษณะโรงเรือนจะมีใต้ถุนสูงโปร่ง ถ่ายเทอากาศได้สะดวก ด้านบนมีฝามิดชิด ข้างบนฝามีช่องระบายอากาศและช่องแสง มีประตูปิด-เปิด พื้นปูด้วยไม้หรือเทปูน มีร่องสำหรับถ่ายอุจจาระ มีเขียงรองเท้าสองข้าง มีรางน้ำปัสสาวะยื่นออกไปนอกฝา มีไม้ซีกเล็ก ๆ มัดรวมกันวางไว้ข้าง ๆ สำหรับเช็ดเมื่อเสร็จกิจ ในถิ่นที่หาน้ำได้ง่ายก็ชำระด้วยน้ำที่ใส่ภาชนะเช่นตุ่มเล็ก ๆ เตรียมไว้แล้ว
และสำหรับชาวบ้านทั่วไป จะเรียกว่าการไปขับถ่ายว่า "ไปทุ่ง" "ไปท่า" และ "ไปป่า" ซึ่งแสดงให้เห็นว่าชาวบ้านไม่มีสถานที่เฉพาะสำหรับการขับถ่ายภายในบ้านของตน จะถ่ายตามทุ่งหรือป่าหรือใกล้แหล่งน้ำ ชุมชนบ้านป่าเมื่อปวดท้องถ่าย จะเดินไปหาที่เหมาะ ๆ ในป่าเพื่อปลดทุกข์ ขณะชาวบ้านทุ่งก็ต้องเลือกป่าละเมาะหรือพุ่มไม้ในหรือสวนไร่นาของหมู่บ้าน อาจจะถือไม้ไปคอยไล่หมูไม่ให้เข้ามากวน ส่วนชาวชุมชนที่อยู่ใกล้น้ำก็อาศัยขับถ่ายบริเวณท่าน้ำหรือริมน้ำและสามารถ ใช้น้ำชำระล้างได้เลย

อ่านต่อ ตอนที่ 2

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.