Header Ads

สุขา : ตอนที่ 3

ประเภทของส้วมในประเทศไทย

ส้วมหลุม



ส้วม หลุม ถือเป็นส้วมแบบแรกที่คนไทยใช้ เป็นหลุมดินมีทั้งที่ใช้เป็นแบบหลุมแห้งหรือหลุมเปียกที่ขุดเป็นหลุมกลมหรือ หลุมสี่เหลี่ยม แล้วปลูกตัวเรือนครอบหลุมไว้ อาจมีไม้กระดาน 2 แผ่นพาดปากหลุมสำหรับนั่งเหยียบและเว้นช่องตรงกลางไว้สำหรับถ่ายทุกข์หรือทำ ฐานโดยใช้แผ่นไม้กระดานมาปิดปากหลุมแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย ตำแหน่งของส้วมหลุมมักจะสร้างไว้ไกลจากบ้านพอสมควรเพื่อแก้ปัญหาเรื่องกลิ่น เหม็น เมื่อหลุมเต็มก็กลบหลุม ย้ายไปขุดที่ใหม่ ส้วมหลุมที่มีลักษณะถูกต้องตามแบบของกรมสุขาภิบาลต้องมีฝาปิดและมีท่อระบาย อากาศ อาจทำจากไม้ไผ่ทะลุปล้องให้เป็นท่อกลวง เจาะทะลุพื้นส้วมเป็นการลดกลิ่นเหม็นจากภายในหลุมส้วม
คนไทยสร้างส้วม หลุมลักษณะดังกล่าวใช้กันมาแต่โบราณ ส้วมหลุมมีปรากฏชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 6 ในยุคที่รัฐเข้ามาจัดการเรื่องส้วมของประชาชนนับตั้งแต่ทศวรรษ 2440 ส้วมที่กรมสุขาภิบาลแนะนำในสมัยนั้นคือส้วมหลุมและส้วมถังเท

ส้วมถังเท



ส้วม ถังเทมีลักษณะคล้ายส้วมหลุมแต่ใช้ถังวางไว้ในหลุมใต้ฐานไม้สำหรับรอง รับอุจจาระของผู้ขับถ่าย เป็นการกำจัดอุจจาระที่ยึดหลักการถ่ายอุจจาระลงถังที่เตรียมไว้แล้วจึงนำไป ทิ้ง การเก็บและบรรทุกถังไปชำระตามปกติ โดยมากจะทำการเก็บและบรรทุกถังอุจจาระไปเททิ้งทำกันวันละครั้ง
"บริษัท สอาด" ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2440 ถือเป็นบริษัทแห่งแรกในจังหวัดพระนครที่ ดำเนินการรับจ้างขนเทอุจจาระ ในช่วงแรกของการดำเนินกิจการตั้งอยู่ที่บางขุนพรหม กิจการของบริษัทสอาดดำเนินการมาประมาณ 20 ปี ก็ได้ขายกิจการต่อให้กับบริษัทออนเหวง ถือเป็นบริษัทรับขนเทอุจจาระรายใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ รับเหมาสัมปทานเวจสาธารณะของกรมสุขาภิบาลและของประชาชนทั่วไปในกรุงเทพ
อัตรา ค่าถังเท ถังละประมาณหนึ่งบาทหรือหกสลึงต่อเดือน ไม่บังคับใช้หากใครไม่อยากจะใช้ระบบถังเทก็ไปใช้บริการสาธารณะได้เช่นกัน เมื่อซื้อถังไปแล้ว ลูกค้าก็จะนำไปใช้แล้ว ทุกคืนราวเที่ยงคืน บริษัทก็จะออกเก็บโดยใช้วัวสองตัวลากรถบรรทุกที่ปิดกั้นด้วยแผ่นสังกะสีทั้ง สี่ด้าน แต่ด้านหลังเป็นบานประตูเปิดปิดได้ คันหนึ่งก็รับถังได้ประมาณ 30-40 ถัง จะมีพนักงานเอาถังใหม่มาเปลี่ยนกับถังเก่า แต่เนื่องจากส้วมถังเทเป็นส้วมที่ยากต่อการดูแลรักษา และการควบคุมให้ปลอดภัยต่อการแพร่ของเชื้อโรค ทางการจึงไม่ส่งเสริมให้ประชาชนใช้

ส้วมบุญสะอาด

ส้วม บุญสะอาดประดิษฐ์โดยนายอินทร์ บุญสะอาด ผู้ตรวจการสุขาภิบาลประจำอำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2474 คือส้วมหลุมที่มีลักษณะพิเศษ กล่าวคือฝาปิดหลุมส้วมมีลักษณะเป็นลิ้นและลิ้นนี้จะเข้าไปขัดกับประตูส้วม คนที่เข้าส้วมต้องใช้เท้าถีบให้ลิ้นที่เป็นฝาปิดนี้ไปขัดกับประตูและจะมี ส่วนยื่นออกมานอกประตู จะทำให้คนข้างนอกรู้ว่ามีคนใช้งานอยู่ เมื่อถ่ายเสร็จแล้วผู้ใช้จะต้องปิดฝาส้วมไว้ตามเดิม มิฉะนั้นจะไม่สามารถเปิดประตูส้วมออกมาข้างนอกได้ เป็นกลไกเพื่อป้องกันการลืมปิดฝาหลุม

ส้วมคอห่าน



ผู้ ประดิษฐ์ "ส้วมคอห่าน" คือพระยานครพระราม (สวัสดิ์ มหากายี) อดีตสมุหเทศาภิบาล ผู้สำเร็จราชการมณฑลพิษณุโลก เมื่อปี พ.ศ. 2467 ขณะดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสวรรคโลกและจังหวัดอุตรดิตถ์ซึ่งเป็นช่วง เวลาที่รัฐบาลร่วมมือกับมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ทำโครงการปราบโรคพยาธิปากขอ และรณรงค์ให้ราษฎรให้ใช้ส้วม
ส้วมหลุมและส้วมถังเทจะมีกลิ่นเหม็นและ ป้องกันแมลงวันได้ไม่ดี พระยานครพระรามได้คิดค้นลองทำส้วมชนิดใหม่ไว้หลายแบบ ในที่สุดได้ทดลองทำหัวส้วมที่ช่องปล่อยทิ้งของเสียด้านใต้โถมีลักษณะเป็นท่อ กลมที่โค้งกลับขึ้นด้านบนจึงสามารถขังน้ำไว้ในคอท่อนั้นได้ ส้วมชนิดนี้ใช้น้ำราดให้อุจจาระตกลงไปในบ่อฝังอยู่ใต้ดิน แมลงวันจะไม่สามารถตามลงไปได้เพราะติดน้ำกั้นไม่ให้ลงไปอยู่ อุจจาระและน้ำในบ่อจะไหลซึมลงไปในดินจึงเรียกวิธีการนี้ว่า "ส้วมซึม" ระบบ ส้วมซึมในระยะแรกมีข้อเสียตรงน้ำอุจจาระที่ซึมสู่พื้นดินเป็นตัวการแพร่ เชื้อโรคได้ ต่อมามีการปรับปรุงเป็นระบบบ่อเกรอะบ่อซึมโดยบ่อที่ฝังใต้ดินมักทำจาก คอนกรีต แบ่งออกเป็น 2 ห้องหรือมากกว่า ใช้สำหรับรับอุจจาระจากโถส้วม มีน้ำและแบคทีเรียเป็น ตัวย่อยสลาย มีบ่อกรองที่เรียกว่า บ่อเกรอะ แล้วระบายน้ำสู่บ่อซึม ระบบนี้ดีกว่าบ่อซึมแต่ก็ยังไม่ปลอดภัยเต็มที่ หัวส้วมแบบคอห่านและระบบบ่อเกรอะบ่อซึมซึ่งคนทั่วไปเรียกกันว่า "ส้วมซึม" ได้เข้ามาแทนที่การใช้ส้วมหลุม ส้วมถังเท ช่วยให้การขับถ่ายในส้วมมีความสะดวกสบายมากขึ้นด้วยราคาค่าก่อสร้างที่ไม่ แพงนักและยังมีใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน

ส้วมชักโครก



ส้วม แบบนี้มีส่วนประกอบที่ค่อนข้างสลับซับซ้อนที่เรียกว่า ชักโครก เพราะเมื่อก่อนตัวถังที่กักน้ำ อยู่เหนือที่นั่งถ่ายสูงขึ้นไป เวลาเสร็จกิจต้องชักคันโยกให้ปล่อยน้ำลงมา มีเสียงน้ำดัง จึงเรียกว่า ชักโครก
ขุนนางชาวอังกฤษชื่อ เซอร์จอห์น แฮริงตัน ได้ประดิษฐ์ส้วมชักโครกรุ่นแรกขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1596 (พ.ศ. 2139) มีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถส้วม เมื่อกดชักโครกแล้ว น้ำจะดันของเสียผ่านท่อไปยังถังเก็บ ต่อมาในปี ค.ศ. 1775 (พ.ศ. 2318) อเล็กซานเดอร์ คัมมิงส์ ได้พัฒนาส้วมชักโครก โดยการดัดท่อระบายของเสียข้างใต้ที่ลงบ่อเกรอะให้เป็นรูปตัวยู สามารถกักน้ำไว้ในท่อ และยังกันกลิ่นของเสียไม่ให้ย้อนกลับขึ้นมาได้ นับเป็นต้นแบบของชักโครกที่ใช้งานในปัจจุบัน
ในประเทศไทยส้วมชักโครก แบบนั่งราบเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ชักโครกในสมัยนั้นจะมีถังพักน้ำติดตั้งสูงเหนือโถ เมื่อชักโครกน้ำจะไหลลงมาชำระให้อุจจาระลงไปสู่ถังเซ็ปติกแทงก์ (Septic Tank) ที่ไว้เก็บกักอุจจาระ ส้วมชักโครกยุคปัจจุบันได้รับการพัฒนาทั้งด้านการออกแบบให้มีรูปทรงสวยงาม ทันสมัยและเทคโนโลยีการใช้งานเช่นเรื่องการประหยัดน้ำ ระบบชำระล้างที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เสียงเบาลงหรือมีระบบอัตโนมัติต่าง ๆ มากมาย

มาตรฐานส้วมไทย

และจาก การสุ่มสำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2549 สุ่มสำรวจส้วมจำนวนกว่า 6,149 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด อาทิ นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น กำแพงเพชร ฯลฯ เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีส้วมที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 5,993 แห่ง มีปัญหาเรื่องความสะอาด 90% ที่พบมากคือ ถังขยะไม่มีฝาปิด ไม่มีกระดาษชำระหรือสายฉีดน้ำ และไม่มีสบู่ล้างมือ ปัญหาเรื่องความพอเพียงพบ 76% ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ส่วนเรื่องความปลอดภัยพบปัญหา 69% ไม่มีการแยกส้วมชาย-หญิง พื้นไม่แห้ง และส้วมตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว

ส้วม สาธารณะในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ กรมอนามัยเปิดเผยว่า จากการสำรวจส้วมสาธารณะใน 20 จังหวัด จำนวน 1,100 แห่ง เมื่อปี 2547 พบว่ามีส้วมคนพิการเพียง 10% คือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานีขนส่งทุกประเภท โรงแรม สวนสาธารณะ ร้านอาหาร สนามกีฬา สถานบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น ไม่มีส้วมสำหรับคนพิการ และส่วนใหญ่ถ้ามีก็ไม่สามารถใช้งานได้ มักใส่กุญแจไว้ หรือใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดแทน จึงเป็นความยากสำหรับคนพิการในการเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ขอให้ทุกสถานที่จะต้องมีส้วมสำหรับคนพิการ อย่างน้อย 1 ห้อง

การส่งเสริมและรณรงค์

ใน ปี พ.ศ. 2548 ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 11 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ด้วยการวางกรอบการพัฒนาไว้ 3 ประเด็น คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หรือมีคำย่อว่า "HAS" ซึ่งมาจากคำว่า Healty Accessibility และ Safety
ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ที่อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เข้าร่วม ซึ่งเป็นงานที่มีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง “การพัฒนาส้วมสาธารณะ” รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลก ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ งานครั้งนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หันมาดูแลส้วมสาธารณะให้ดีขึ้นอีกด้วย
นอกจาก นั้นกรมอนามัยได้มีโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับส้วมสาธารณะ เช่นโครงการสายสืบส้วม (Toilet Spy) เป็นโครงการที่มีอาสาสมัคร ตัวแทนประชาชนในการเฝ้าระวัง ดูแล ตรวจตราและแจ้งเบาะแสส้วมทั้งที่ได้มาตรฐานให้กรมอนามัยทราบและดำเนินการและอีกโครงการของกรมอนามัย คือโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2549-2551 โดยตั้งหลักชัยอยู่ที่ 3 คำสำคัญคือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอุทยานแห่งชาติ และกลุ่มธุรกิจผู้ค้าน้ำมัน

แหล่งอ้างอิง
http://th.wikipedia.org/

ไม่มีความคิดเห็น

ขับเคลื่อนโดย Blogger.